เทคนิคการทดลอง ตอนที่ 2

การเตรียมและการผสมสารละลายในหลอดทดลอง การนำสารที่เป็นของแข็งออกจากขวด
การให้ความร้อนแก่ของเหลวที่ไม่ติดไฟ การใช้เครื่องชั่ง
การเตรียมและการผสมสารละลายในหลอดทดลอง

วัตถุประสงค์ของการผสมสารละลายก็เพื่อให้ตัวละลายและตัวทำละลายผสมกันอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเทคนิคการผสมสารลายนั้นอาจใช้วิธีเขย่าหลอดทดลองตามที่กล่าวมาแล้วก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีอื่น ๆ ได้อีกหลายวิธี จะขอกล่าวตามลำดับดังนี้ 
วิธีที่ 1 การกวนสารละลายด้วยแท่งแก้ว เป็นการกวนของแข็งให้ละลายในเนื้อเดียวกันกับสารละลายหรือเป็นการกวนให้สารละลายผสมกันโดยใช้แท่งแก้ว การกวนสารละลาย ต้องกวนไปในทิศทางเดียว และระวังอย่าให้แท่งแก้วกระทบกับข้างหลอดทดลองหรือก้นหลอดทดลอง เพราะจะทำให้หลอดทดลองทะลุได้หากเป็นการผสมสารละลายที่มีจำนวนมากก็ควรใช้ปีกเกอร์แทนหลอดทดลองและใช้เทคนิคการกวนสารละลายเช่นเดียวกัน 


วิธีที่ 2 การหมุนสารละลายด้วยข้อมือ เป็นเทคนิคการผสมสารละลายในหลอดทดลอง กระบอกตวงหรือฟลาสให้มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกันทุกส่วนวิธีหนึ่ง โดยใช้มือจับทางส่วนปลายของอุปกรณ์ดังกล่าวแล้วหมุนด้วยข้อมือให้สารละลายข้างในไหลวนไปทิศทางเดียวกัน 

การนำสารที่เป็นของแข็งออกจากขวด

การนำสารที่เป็นของแข็งออกจากขวดมีวิธีทำได้หลายวิธี จะขอแยกกล่าวตามลำดับดังนี้ 
วิธีที่ 1 วิธีนี้ใช้กับขวดที่ด้านในของจุกปิดมีช่องว่างสามารถใส่สารได้ มีวิธีทำดังนี้ 
1. เอียงขวดในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วหมุนขวดไปมาเพื่อให้สารเข้าไปในช่องว่าง ของ จุกขวด ถ้าของแข็งในขวดนั้นติดแน่นอาจต้องเขย่าขวดเบา ๆ เพื่อให้พื้นผิวของของแข็งนั้นแตกออกหรืออาจจะเปิดฝาขวดออกก่อนแล้วใช้ช้อนที่สะอาดขูดให้พื้นผิวของสารแตกออกก่อนก็ได้ 
2. ถือขวดในตำแหน่งที่เหมาะสม ระวังอย่าให้สารหก เมื่อเปิดจุกขวดออกซึ่งในจุกจะมีสารอยู่ด้วย 
3. วางขวาดใส่สารลงบนโต๊ะ เอียงจุกขวดเพื่อเทสารออก อาจใช้ดินสอหรือนิ้วมือเคาะที่ จุกขวด เพื่อให้สารนั้นหล่นลงมายังภาชนะรองรับ หรือใช้ช้อนตวงขนาดเล็กตักออกก็ได้ 
4. ทำซ้ำจนกว่าจะได้ปริมาณของสารตามต้องการ 
5. เมื่อได้ปริมาณของสารตามที่ต้องการแล้ว หากมีสารเหลืออยู่ในจุกขวดให้เทสาร กลับ เข้าไว้ในขวดได้ เพราะสารที่เหลือนี้ไม่ได้สัมผัสกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยจึงมีความบริสุทธิ์เหมือนเดิม 
6. ปิดจุกขวด 

วิธีที่ 2 วิธีนี้ใช้กับขวดด้านในไม่มีช่องว่างที่จะใส่สารได้ ในกรณีนี้จำเป็นจะต้องใช้ช้อนตวง ตักสารออกมาจากขวดมีวิธีการดังนี้ 
1. หมุนจุกขวดเบา ๆ เพื่อให้หลวมแล้วเปิดออก ถ้าจุกขวดมีส่วนบนแบนเรียบให้วาง หงายบนพื้นโต๊ะที่เรียบและสะอาด แต่ถ้าจุกขวดมีลักษณะอื่นห้ามวางจุกขวดลงบนโต๊ะอย่างเด็ดขาด จะต้องถือจุกขวดไว้ 
2. ใช้ช้อนตวงที่สะอาดตักสารออกจากขวด 
3. ถือช้อนที่มีสารออกจากขวดเบา ๆ เพื่อไม่ให้สารหกนำมาใส่ภาชนะที่รองรับจนได้ปริมาณตามต้องการ 
4. ปิดจุกขวด 

วิธีที่ 3 ในกรณีที่ไม่สามารถจะใช้วิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 เพื่อนำสารที่เป็นของแข็งออกจากขวด ได้ก็อาจใช้วิธีที่ 3 ซึ่งมีวิธีทำเป็นขั้น ๆ ดังนี้ 
1. ทำให้ขวดใส่สารสะเทือนเล็กน้อย โดยการเคาะเบา ๆ กับพื้นโต๊ะเพื่อให้สารในขวดเคลื่อนไหวและเกาะกันอย่างหลวม ๆ 
2. เปิดจุกขวดและวางจุกขวดหงายขึ้นบนพื้นที่เรียบและสะอาด 
3. ยกขวดใส่สารขึ้นเหนือภาชนะที่จะใส่สารเอียงขวดสารแล้วหมุนขวดไปมา เพื่อให้สารตกลงมายังภาชนะที่รองรับจนได้ปริมาณตามต้องการ 
4. ปิดจุกขวด 

การให้ความร้อนแก่ของเหลวที่ไม่ติดไฟ

การให้ความร้อนของเหลวใด ๆ ผู้ทดลองจะต้องทราบว่าของเหลวนั้นติดไฟง่ายหรือไม่เมื่อกลายเป็นไอ ดังนั้นการต้มหรือการให้ความร้อนแก่ของเหลว จึงควรระวังให้มากเพราะอาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้ง่าย เทคนิคที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการให้ความร้อนของเหลวที่ไม่ติดไฟ 
1. เมื่อของเหลวอยู่ในหลอดทดลอง ควรปฏิบัติดังนี้ 
1.1 ปริมาตรของของเหลวไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของหลอดทดลอง 
1.2 ถือหลอดทดลองด้วยที่จับหลอดทดลอง อย่าจับหลอดทดลองด้วยนิ้วมือโดยตรง (ถ้า ไม่มีที่จับหลอดทดลองอาจใช้กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ยาว ๆ พันรอบปากหลอดทดลองหลาย ๆ รอบ แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วที่จับกระดาษก็ได้) 
1.3 นำหลอดทดลองไปให้ความร้อนโดยตรงจากเปลวไฟควรใช้เปลวไฟอ่อน ๆ และเอียง หลอดทดลองเล็กน้อย พยายามให้ส่วนที่เป็นของเหลวในหลอดทดลองถูกเปลวไฟทีละน้อย พร้อมแกว่งหลอดทดลองไปมา เมื่อของเหลวร้อนจะระเหยกลายเป็นไอ 


ข้อควรระวัง การต้มของเหลวในหลอดทดลองมีข้อที่ควรระมัดระวังดังนี้ 
1. ขณะให้ความร้อนหลอดทดลองจะต้องหันปากหลอดทดลองออกจากตัวเรา และชี้ไป ในทิศทางที่ไม่มีผู้อื่น หรือสิ่งของอยู่ใกล้ ๆ ทั้งนี้เพราะเมื่อของเหลวเดือดอาจจะพุ่งออกมานอกหลอดทดลองทำให้เกิดอันตรายได้ 
2. อย่าก้มดูของเหลวในหลอดทดลองขณะกำลังให้ความร้อนเป็นอันขาด เพราะถ้าของ เหลวพุ่งออกมาอาจเป็นอันตรายต่อใบหน้าและนัยตาได้ 
3. ขณะให้ความร้อนแก่ของเหลวในหลอดทดลอง ต้องแกว่งหลอดทดลองไปด้วยเพื่อให้ ของเหลวในหลอดทดลองเคลื่อนไหวและได้รับความร้อนเท่าเทียมกันทุกส่วน และยังช่วยป้องกันของเหลวพุ่งออกมาด้วย 

2. เมื่อของเหลวอยู่ในบีกเกอร์หรือฟลาส มีวิธีทำดังนี้ 
1. นำบีกเกอร์ตั้งบนตะแกงลวด ซึ่งวางอยู่บนสามขาหรือที่ยึดวงแหวน 
2. ให้ความร้อนโดยใช้ตะเกียงก๊าซ 

การใช้เครื่องชั่ง

การที่จะเลือกใช้เครื่องชั่งชนิดใดในการทดลองให้เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับว่าการทดลองนั้นต้องการความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน การใช้เครื่องชั่งต้องมีการระวังและรักษาให้ดี เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายของเครื่องชั่งซึ่งทำให้น้ำหนักคลาดเคลื่อนจนไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ดังนั้นทุกครั้งที่ใช้เครื่องชั่งผู้ใช้ควรปฏิบัติดังนี้ 
1. เครื่องชั่งต้องตั้งอยู่ที่บนที่แน่นหนามั่นคง อย่าให้มีการสะเทือน ไม่ควรตั้งรอมหน้าต่างหรือใกล้ความร้อน อย่าให้แสงแดส่องถูกเครื่องชั่งโดยตรง และฐานของเครื่องชั่งต้องอยู่ในแนวระนาบ 
2. ก่อนชั่งตรงปรับให้เข็มของเครื่องชั่งอยู่ที่ขีด 0 พอดีและขณะชั่งต้องนั่งตรงกึ่งกลางของเครื่องชั่งเสมอ เพื่อไม่ให้การอ่านน้ำหนักผิดพลาด 
3. ห้ามวางสารเคมีที่จะชั่งบนจานเครื่องชั่งโดยตรง เพราะสารเคมีอาจทำให้จานชำรุดเสียหายได้ ต้องใส้สารเคมีบนกระจกนาฬิกาหรือขวดชั่งสารเสมอ อย่าใช้กระดาษรองสารเคมีในการชั่งสารเคมีอย่างเด็ดขาด 
4. การชั่งสารที่กัดโลหะต้องใส่สารในขวดชั่งสารที่มีฝาปิดมิดชิด 
5. ห้ามนำวัตถุหรือสารเคมีที่ยังร้อนอยู่ไปชั่ง วัตถุที่นำมาชั่งต้องมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิของห้อง 
6. ห้ามใช้มือหยิบตุ้มน้ำหนักหรือวัตถุที่จะชั่ง เพราะน้ำหนักอาจเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเหงื่อที่ติดอยู่ที่นิ้วมือ ต้องใช้ปากคีบหยิบตุ้มน้ำหนักหรือใช้กระดาษพับเป็นแผ่นเล็กๆ คาดรอบขวดชั่งหรือตุ้มน้ำหนักเสมอ 
7. เมื่อชั่งน้ำหนักของสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องเก็บตุ้มน้ำหนักและแผ่นน้ำหนักหรือเลื่อนตุ้มน้ำหนักมาอยู่ที่ขีด 0 รวมทั้งเก็บวัตถุที่นำมาชั่งออกจากเครื่องชั่งให้หมด ถ้าหากมีสารเคมีหกอยู่บนจานหรือพื้นเครื่องชั่ง ต้องทำความสะอาดโดยทันที 
8. อย่าชั่งสารที่มีน้ำหนักมากกว่าความสามารถของเครื่องชั่ง โดยปกติเครื่องชั่งในห้องทดลองจะชั่งได้ตั้งแต่ 100 ถึง 200 กรัม ซึ่งผู้ผลิตจะระบุอัตราไว้ 
9. ต้องรักษาเครื่องชั่งให้สะอาดอยู่เสมอหลังจากใช้ทุกครั้งควรคลุมเครื่องชั่งเพื่อป้องกันฝุ่นละออง 

 

 

 

Power By &