เครื่องชั่ง

 

เครื่องชั่งที่ใช้ในห้องปฏิบัติการมีหลายชนิด แต่ละชนิดสามารถชั่งมวลได้มากน้อยและละเอียดต่างกัน การชั่ง ไม่ควรชั่งเกินขีดจำกัดของแต่ละเครื่องเพราะจะทำให้เครื่องชำรุด การชั่งและการเก็บรักษาเครื่องชั่งอย่างถูกวิธีจะทำให้เครื่องชั่งมีอายุการใช้งานได้นานและมีความคลาดเคลื่อนน้อย การวางเครื่องชั่ง ควรวางไว้บนทีเฉพาะซึ่งมีความแข็งแรง มีพื้นราบเรียบ และไม่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อย ๆ เพราะการเคลื่อนย้ายเครื่องชั่งบ่อย ๆ อาจทำให้เครื่องชั่งชำรุดและทำให้การชั่งคลาดเคลื่อนได้ เครื่องชั่งที่ใช้ในการทดลองในระดับมัธยมศึกษา แบ่งออกเป็น ดังนี้
เครื่องชั่งชนิดจานเดียว
เครื่องชั่งชนิดจานเดียว เครื่องชั่งนี้มีจานวางสารเพียงด้านเดียว อาจเป็นแบบที่จานวางอยู่ในสาแหรกซึ่งห้อยจากคาน ได้แก่ เครื่อง Ohaus Cent-O-Gram ซึ่งสามารถชั่งได้ละเอียดถึง 0.01 กรัม หรือเป็นแบบที่มีจานวางอยู่บนคานด้านซ้ายมือ ได้แก่ เครื่อง Ohaus triple beam ซึ่งสามารถชั่งได้ละเอียดถึง 0.1 กรัม การใช้เครื่องชั่งชนิดจานเดียว ควรปฏิบัติดังนี้
1. ในการชั่งมวลของสาร ต้องวางเครื่องชั่งบนพื้นราบเรียบและมั่นคง ไม่มีการสั่นสะเทือน ผู้ชั่งต้องอยู่ข้างหน้าตรงกึ่งกลางของเครื่องชั่ง
2. วัตถุที่จะชั่งต้องไม่ร้อนหรือเปียกชื้น ถ้าเป็นสารเคมีต้องบรรจุในขวดชั่งสาร บีกเกอร์ กระจกนาฬิกา หรือกระดาษเคลือบไขสำหรับชั่งสาร โดยเลือกขนาดให้เหมาะสม ไม่ชั่งสารเคมีบนจานโดยตรง เพราะจะทำให้จานเปรอะเปื้อนและสารบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับวัสดุที่ทำจานชั่ง ทำให้ผุกร่อน ซึ่งส่งผลให้เครื่องชั่งคลาดเคลื่อนหรือชำรุดเสียหายได้
3. ก่อนชั่ง
- พิจารณาส่วนประกอบและรายละเอียดต่าง ๆ ของเครื่องชั่งว่ามีจำนวนคานเท่าใด แต่ละคานใช้แทนมวลกี่กรัม ชั่งได้สูงสุดและละเอียดที่สุดกี่กรัม
- ให้ตุ้มน้ำหนักทุกอันบนคานอยู่ที่ขีด 0 กรัม ดูสมดุลของคานโดยสังเกตจาเข็มที่ปลายคานทางขวามือว่าชี้ที่ตำแหน่งสมดุลหรือไม่ ในกรณีที่คานยังไม่สมดุล ทั้ง ๆ ที่ตุ้มน้ำหนักทุกอันอยู่ที่ขีด 0 กรัม จะต้องหมุนปุ่มสำหรับปรับมวลที่อยู่ทางซ้ายสุดของคานจนกระทั่งเครื่องชั่งชี้ที่ตำแหน่งสมดุล
- ก่อนที่จะชั่งสารหรือวางภาชนะที่จะชั่งลงบนจานชั่ง จะต้องพักจานกับพื้นและวางภาชนะที่ทราบมวลแน่นอน หรือสารที่จะชั่งตรงบริเวณกึ่งกลางของคาน
4. ขณะชั่ง
- ไม่ควรแตะจานชั่งในขณะที่คานชั่งกำลังแกว่ง
- เลื่อนตุ้มน้ำหนักบนคาน แล้วสังเกตว่าเข็มที่ชี้ที่ตำแหน่งสมดุลหรือไม่
- ถ้าเข็มชี้อยู่เหนือตำแหน่งสมดุล แสดงว่าตุ้มน้ำหนักที่เลื่อนไปมีมวลน้อยกว่าสารเคมีหรือวัตถุที่ต้องการชั่ง แต่ถ้าเข็มอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งสมดุล แสดงว่ามวลของตุ้มน้ำหนักที่เลื่อนไปมากกว่ามวลของสารเคมี การชั่งหามวลของสารจะต้องปรับเครื่องชั่งให้สมดุล โดยการเลื่อนตุ้มน้ำหนักบนคานจนเข็มชี้ที่ตำแหน่งสมดุล จากผลรวมของมวล ณ ตำแหน่งที่ตุ้มน้ำหนักแขวนอยู่บนคานแต่ละอันจะเป็นมวลของสารหรือวัตถุที่ต้องการชั่ง
5. หลังการชั่ง
- เมื่อชั่งเสร็จแล้วและบันทึกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ต้องเลื่อนตุ้มน้ำหนักกลับไปไว้ที่ตำแหน่ง 0 กรัมตามเดิม
- พักจานลงกับพื้นและนำสารเคมีหรือภาชนะที่ชั่งออกจากจานให้หมด ถ้าเป็นเครื่องชั่งที่มีจานเป็นชนิดแขวน ให้ยกสาแหรกออกจากที่แขวนวางไว้บนแป้นรองจานที่อยู่ด้านล่างเพื่อไม่ให้สาแหรกแกว่งไปมาจะเป็นผลเสียต่อคมมีด ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่รองรับคานอยู่
- ทำความสะอาดเครื่องชั่ง

เครื่องชั่งชนิดสองจาน 
เครื่องชั่งชนิดสองจานเป็นเครื่องชั่งที่มีจานอยู่ทั้ง 2 ด้านของเครื่องชั่ง โดยวางอยู่ด้านบนของคาน จานด้านซ้ายใช้สำหรับวางวัตถุที่จะชั่ง ส่วนด้านขวาสำหรับวางตุ้มน้ำหนัก สิ่งที่จะวางบนจานทั้งสองข้าง ควรวางตรงบริเวณกึ่งกลางของจานเสมอ เครื่องชั่งแบบนี้วัดได้ละเอียดถึง 0.1 กรัม มีวิธีการใช้คล้ายคลึงกับชนิดจานเดียว แต่ต่างกันตรงมีจานสำหรับวางตุ้มน้ำหนักและเข็มชี้ขีดศูนย์เพื่อแสดงว่าคานสมดุล และปุ่มหมุนสำหรับปรับสมดุลจะอยู่ตรงกลางของเครื่องชั่ง ตุ้มน้ำหนักจะเป็นชุด มีหลายขนาดรวมอยู่ในกล่องเดียวกัน ต้องใช้คีมหยิบตุ้มน้ำหนักเหล่านี้ทุกครั้งอย่าใช้มือหยิบ เพราะจะทำให้เกิดสนิมหรือมวลผิดไปได้ มวลของวัตถุที่ชั่งอ่านได้จากผลรวมของตุ้มน้ำหนักบนจานทางขวามือกับน้ำหนักที่ใช้ปรับบนคาน เมื่อใช้เสร็จให้กดปุ่มหมุนลง ยกตุ้มน้ำหนักออกเก็บใส่กล่อง และนำวัตถุที่ชั่งออก เลื่อนน้ำหนักที่สำหรับใช้เพิ่ม (rider) บนคานไปไว้ที่ตำแหน่ง 0 กรัม ทำความสะอาดเครื่องชั่ง

 

Power By &